ปัญญาสมาพันธ์ ศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายแขนงวิชา ร่วมกันศึกษา ค้นคว้า วิจัย | ประเทศ ‘ไปต่อ’ แบบเข้มแข็ง ด้วย “เท่ อินเด็กซ์”
16794
single,single-post,postid-16794,single-format-standard,ajax_fade,page_not_loaded,,side_area_uncovered_from_content,qode-theme-ver-7.8,wpb-js-composer js-comp-ver-4.8.1,vc_responsive

ประเทศ ‘ไปต่อ’ แบบเข้มแข็ง ด้วย “เท่ อินเด็กซ์”

dr3-01

18 Apr ประเทศ ‘ไปต่อ’ แบบเข้มแข็ง ด้วย “เท่ อินเด็กซ์”

เรื่องใดที่วัดไม่ได้ ย่อมไม่สามารถบริหารจัดการได้…
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการนำตัวชี้วัด หรือ ดัชนี (index) มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ทั้งในระดับองค์กร และในระดับประเทศ โดยมองว่า การกำหนดดัชนีชี้วัดเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุดในการบริหารจัดการ หากต้องการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ชัดเจน เพราะเรื่องใดที่วัดไม่ดี วัดไม่ได้ ไม่มีตัวชี้วัดที่มีมาตรฐานกำกับ เรื่องนั้นย่อมไม่สามารถบริหารจัดการได้
นอกจากนี้ ยังได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า ต่อไปจะเป็นโลกแห่งดัชนีนิยม (The world of indexation) ในเรื่องที่คล้าย ๆ กันของทั้งโลก จะมีการกำหนดดัชนีชี้วัดเดียวกัน เพื่อเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการเปรียบเทียบระหว่างกัน และเป็นเป้าหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแข่งขันกับตัวเอง
ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงไม่เพียงต้องพัฒนาอย่างมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะสั้น ระยะยาว แต่ต้องพัฒนาอย่างมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เหมาะสม และมีมาตรฐาน สามารถนำมาวางแผนบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ได้

wc2
ที่สำคัญอย่างยิ่ง ผมมองว่า ภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศ อันได้แก่ ภาครัฐ (public sector) ภาคเอกชน (private sector) และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม (people sector หรือ civic sector) ต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง และประสานสอดคล้องเพื่อไปสู่จุดหมายของประเทศร่วมกัน โดยนำจุดแข็งที่แตกต่างกันมาสนับสนุนเสริมกันและกัน และเร่งแก้ไขจุดอ่อนเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งการจะรู้ว่าแต่ละภาคส่วนมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร มีประสิทธิผลการทำงานด้านต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดประสิทธิผลการทำงานของแต่ละภาคส่วน
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ผมและผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการและนักวิจัยหลายสาขาวิชาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ จึงรวมตัวกันเป็น “สภาปัญญาสมาพันธ์เพื่อการสร้างชาติ” โดยมีผมเป็นประธาน ได้เริ่มทำงานสำคัญชิ้นแรกในเดือนที่ผ่าน คือ การพัฒนา “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand Effectiveness Index – TE Index)” ซึ่งประกอบด้วย 3 ดัชนีย่อย ได้แก่ ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index – PVE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคสังคม (People Sector Effectiveness Index – PPE Index)

การจัดทำ TE Index จะใช้การสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) เก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา อาชีพ อายุ รายได้ กระจายเพื่อให้ได้ความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยจะดำเนินการสำรวจทุกเดือน เดือนละดัชนี เมื่อครบ 3 เดือน หรือหนึ่งไตรมาส จะทำการสำรวจวนซ้ำตามลำดับ เวียนไปเรื่อย ๆ เพื่อเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อ 3 ภาคส่วน และจัดทำเป็น ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ TE Index (เท่ อินเด็กซ์) เพื่อให้แต่ละภาคส่วนรับรู้มุมมองจากประชาชนที่มีต่อตน อันนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป
สำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อ ประสิทธิผลภาคเอกชน
สำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อ ประสิทธิผลภาคประชาชน
สำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อ ประสิทธิผลภาครัฐ

wc1

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เป็นการพิจารณาแต่ละภาคส่วนด้วยสายตาของคนนอกแบบ outside-in ในภาพรวม ไม่ได้ระบุเจาะจงหน่วยงานใด ผลสำรวจที่ได้จึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนความเห็นสาธารณะ (public opinion) ให้แต่ละภาคส่วนได้มองเห็นตนเองจากมุมมองของประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้น และที่สำคัญ การสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส จะช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่า มีการปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นหรือไม่ มีประสิทธิผลในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
TE Index จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนถึงระดับประสิทธิผล หรือความเข้มแข็ง ของทั้ง 3 ภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศสู่การบรรลุจุดหมายการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจครบหนึ่งรอบแล้ว ทั้งการรับรู้ของประชาชนต่อประสิทธิผลภาครัฐ การรับรู้ของประชาชนต่อประสิทธิผลภาคเอกชน การรับรู้ของประชาชนต่อประสิทธิผลภาคประชาชน ซึ่งผลการสำรวจและการวิเคราะห์ผลจะมานำเสนอในบทความครั้งต่อ ๆ ไป

No Comments

Post A Comment