
06 Apr เท่ อินเด็กซ์ยกนิ้วให้ภาคประชาชนดีสุด ตามด้วยเอกชน ภาครัฐที่โหล่ตามคาด
ผลเท่ อินเด็กซ์ ชี้ประชาชนมองภาครัฐประสิทธิผลต่ำสุด คอร์รัปชั่นสูง โปร่งใสน้อยเทคะแนนให้ภาคประชาชนสูงสุด ภาพลักษณ์ดี มีประสิทธิภาพ ส่วนภาคเอกชนให้พอผ่าน ช่วยเศรษฐกิจโต แต่อ่อนนวัตกรรมแนะหากสามภาคดึงจุดแข็งประสานกัน พาไทยโตแบบเข้มแข็งได้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์เพื่อการสร้างชาติ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย(เท่ อินเด็กซ์) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประสิทธิผลประเทศไทย ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาเปรียบเทียบภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนพบว่าองค์กรภาคประชาชนมีประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาสูงสุด ภาคเอกชนรองลงมา ส่วนภาครัฐน้อยที่สุด
ทั้งนี้ การเปรียบเทียบระหว่าง 3 ดัชนีในภาพรวมพบว่า ประชาชนให้คะแนนความเชื่อถือต่อองค์กรภาคประชาชนในภาพรวมสูงกว่าภาคส่วนอื่น คิดเป็นร้อยละ 66.4 ภาคเอกชนรองลงมาร้อยละ 61ในขณะที่ภาครัฐ ได้คะแนนน้อยที่สุด ร้อยละ 51.2 หรือน้อยกว่าภาคประชาชนถึงกว่าร้อยละ 14 ซึ่งการที่ประชาชนให้คะแนนความเชื่อถือต่อภาครัฐน้อยสุด เนื่องจากประชาชนคาดหวังกับภาครัฐสูง ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และการทำงานอย่างโปร่งใสแต่ยังไม่เห็นความก้าวหน้าเท่าที่ควร
เมื่อเทียบปัจจัยต่าง ๆ พบว่า ภาคประชาชนได้คะแนนนำในหลายเรื่อง อาทิ ปัจจัยประสิทธิภาพการทำงาน ภาคประชาชน (67.6%) ภาคเอกชน (59.5%) ภาครัฐ (51.8%) สะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และฉับไวทันการณ์มากกว่าภาคส่วนอื่น
ปัจจัยการทำงานที่ปลอดจากการคอรัปชั่น ภาคประชาชน (67.4%) ภาคเอกชน (58.6%) ภาครัฐ (48.3%) เห็นได้ชัดว่า ประชาชนเชื่อมั่นการปลอดคอร์รัปชั่นของภาคประชาชนสูงกว่าภาครัฐถึงร้อยละ19สะท้อนว่า วาระการปราบปรามการคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อถือจากเช่นเดียวกับปัจจัยความโปร่งใสประชาชนให้คะแนนภาคประชาชนและภาคเอกชนทิ้งห่างจากภาครัฐ มากกว่าร้อยละ 12 (ภาคประชาชน (67.4%) ภาครัฐ (50.4%) ภาคเอกชน (62.5%)) สะท้อนว่า ประชาชนเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนทำงานอย่างเปิดเผย ไม่เจตนาปิดบัง ซ่อนเร้น อำพราง และยินดีได้รับการตรวจสอบจากผู้รับบริการมากกว่าจากหน่วยงานภาครัฐ
เมื่อเทียบปัจจัยการทำงานอย่างมืออาชีพประชาชนเห็นว่าภาคประชาชนมีการทำงานอย่างมืออาชีพสูงกว่าองค์กรในภาคส่วนอื่น โดยได้คะแนน ร้อยละ 65.7 สูงกว่าภาคเอกชนซึ่งได้คะแนนในระดับกลาง(58.6%) อยู่ถึงร้อยละ 7 และสูงกว่าภาครัฐ (51%) ถึงร้อยละ 14 สอดคล้องกับปัจจัยการสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยอื่นประชาชนเห็นว่าภาคประชาชนสามารถสร้างพันธมิตรและทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ดีใกล้เคียงกับภาคเอกชน ส่วนภาครัฐได้คะแนนน้อยสุด (ภาคประชาชน (65.2%) ภาคเอกชน (62.6%) หน่วยงานภาครัฐ (54.9%))
จากผลเท่ อินเด็กซ์ ทั้งสามภาคส่วน หากสามารถนำจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาช่วยสนับสนุนและประสานงานกัน ย่อมช่วยให้การพัฒนาประเทศในภาพรวมเกิดประสิทธิผลมากขึ้น เช่น เมื่อประชาชนให้ความเชื่อมั่นภาคประชาชนสูงสุด ภาครัฐจึงควรสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนให้มีบทบาทมากขึ้นในการช่วยพัฒนาประเทศในกิจการต่าง ๆ ที่ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณมาให้ภาคประชาชนดำเนินการแทน และภาครัฐทำหน้าที่กำกับดูแล
ขณะเดียวกัน องค์กรภาครัฐซึ่งได้คะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในด้านความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ ความเข้าใจในงาน และมีหลักจรรยาบรรณในวิชาชีพ จึงควรเร่งพัฒนาความเป็นมืออาชีพของข้าราชการ และต้องสร้างเสริมจรรยาบรรณให้กับผู้ปฏิบัติงานเปิดกว้างในกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น
สำหรับองค์กรภาคเอกชนควรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความเป็นมืออาชีพ ควรมุ่งเน้นการลงทุนกับงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทันต่อความต้องการของสังคม อาจสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการเพื่องานวิจัยเชิงพาณิชย์และนำเทคโนโลยีความรู้จากที่ได้จากงานวิจัยหรือต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และต้องหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือธุรกิจซื้อมาขายไปในสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม
นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมองค์กรภาคเอกชนในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงานร่วมกับหน่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะของซับพลายเออร์ คู่ค้า หรือพันธมิตรธุรกิจ โดยต้องสร้างระบบการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินงานได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ รวมทั้งประสบการณ์ให้กับองค์กรภาคเอกชน
การสำรวจดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย ใช้การสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) เก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา อาชีพ อายุ รายได้ กระจายเพื่อให้ได้ความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยดำเนินการสำรวจเดือนละดัชนี เมื่อครบในหนึ่งไตรมาส จะทำการสำรวจทวนซ้ำตามลำดับเพื่อเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลงระหว่างไตรมาส
ผลสำรวจสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อภาคส่วนสำคัญของประเทศทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เห็นมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา และเป็นข้อมูลให้ทั้งสามภาคส่วน ได้รับรู้ถึงความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการดำเนินภารกิจของตน
ทั้งนี้ การสำรวจในระยะต่อไปจะมีการเพิ่มข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลสถิติอื่น ๆ ที่มีการสำรวจหรือวิจัยไว้โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาใช้ร่วมกับข้อมูลการรับรู้ของประชาชนเพื่อให้ได้ภาพประสิทธิผลการทำงานที่มีความสมดุลระหว่างมุมมองจากประชาชนและข้อมูลจากการสำรวจวิจัยอันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการทำงานของแต่ละภาคส่วนให้มีประสิทธิผลตามตัวชี้วัดต่อไป
No Comments